บริการประชาชน

บริการประชาชน

จดทะเบียนสมรส

จดทะเบียนสมรส

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,077 view

การจดทะเบียนสมรส การใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุลหลังการสมรส 

1. การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

  • บุคคลสัญชาติไทยที่พำนักในต่างประเทศ และประสงค์จะทำการสมรสตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทย สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ

2. คุณสมบัติของผู้ร้อง

  • ชายและหญิงต้องเป็นคนสัญชาติไทย หรือชายหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนสัญชาติไทย อีกฝ่ายเป็นคนต่างชาติ
  • ผู้ร้องทั้งสองฝ่ายต้องมาขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนด้วยตนเอง (ไม่สามารถจดทะเบียนทางไปรษณีย์ได้) และมีพยาน 2 คน
  • ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของกฎหมาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5) ดังนี้ 

         (1) ชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์
         (2) ไม่เป็นบุคคลวิกตจริตหรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
         (3) ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรง หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา
         (4) ผู้รับบุตรบุญธรรมจะทำการสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
         (5) ต้องไม่อยู่ในระหว่างสมรสกับผู้อื่น
         (6) หญิงที่สามีตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ ก.คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น ข. สมรสกับคู่สมรสเดิม ค. มีคำสั่งศาลให้สมรสได้
         (7) กรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้มีอำนาจให้ความยินยอม กรณีไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม หรือมีแต่ไม่ให้ความยินยอม ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้ทำการสมรสได้

 3. เอกสารประกอบการยื่นจดทะเบียนสมรส

  • ผู้ยื่นคำร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องยื่นเอกสารเหมือนกัน พร้อมสำเนา 1 ชุด ดังนี้

         (1) บัตรประจำตัวประชาชน
         (2) หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้การได้อยู่
         (3) หนังสือรับรองความเป็นโสด (ตัวจริง) อายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก ถ้าเคยแต่งงาน / เคยหย่ามาก่อน ต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสดหลังหย่า หรือถ้าคู่สมรสเสียชีวิตต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสด มีข้อความระบุว่า หลังคู่สมรสเสียชีวิตแล้วไม่ได้แต่งงานอีก
(หมายเหตุ บุคคลสัญชาติไทยที่ไม่มีหนังสือรับรองความเป็นโสด สามารถเดินทางไปยื่นคำร้องมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อให้ญาติไปขอหนังสือรับรองโสดที่สำนักงานทะเบียนในประเทศไทยได้)
         (4) ทะเบียนบ้านไทย และโปแลนด์ หรือ ยูเครน
         (5) ทะเบียนหย่า ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน แต่ได้หย่าขาดแล้ว
         (6) กรณีฝ่ายหญิงหย่าขาดมาน้อยกว่า 310 วัน ณ วันที่ยื่นขอจดทะเบียนสมรสใหม่จะต้องนำใบรับรองแพทย์ ระบุว่าไม่ได้ตั้งครรภ์มายื่นเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีจดทะเบียนกับคู่สมรสเดิมก็ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว
         (7) ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต ให้ยื่นสำเนามรณบัตรด้วย
         (8) กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ และ/หรือนามสกุล ให้นำเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลงชื่อดังกล่าวมาแสดง
         (9) เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ แล้วแต่กรณี 

4. คำนำหน้าชื่อหญิงไทยหลังการสมรส

  • หญิงไทยที่จดทะเบียนแล้ว จะสามารถใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย (ในต่างประเทศคือเจ้าหน้าที่กงสุล) ทั้งนี้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติฯ นี้ มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงหญิงทุกคนที่จดทะเบียนสมรสก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้นายทะเบียนจะบันทึกเพิ่มเติมในหน้าบันทึกของทะเบียนสมรสระบุว่า ฝ่ายหญิงมีความประสงค์จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว”

5. การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส

  • ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส ดังนี้

         (1) คู่สมรสสามารถใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมจากฝ่ายนั้นแล้ว (ไม่สามารถควบชื่อสกุลทั้งสองเข้าด้วยกันได้)
         (2) คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ การตกลงดังกล่าวนี้ จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ และคู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงข้อความในวรรคหนึ่งภายหลังก็ได้
         (3) เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายที่ใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน
         (4) เมื่อการสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย ให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

  • ในระหว่างการจดทะเบียนสมรส คู่สมรสต้องแจ้งต่อนายทะเบียน (เจ้าหน้าที่กงสุล) ว่าตนประสงค์จะใช้ชื่อสกุลเดิมของตน หรือชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งนายทะเบียนจะบันทึกไว้บนหน้าบันทึกของทะเบียนสมรส
  • คู่สมรสทั้งสองฝ่ายจะต้องทำหนังสือข้อตกลง มีข้อความระบุชัดเจนว่า คู่สมรสจะใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใด ชื่อสกุลอะไร พร้อมลงลายมือชื่อของคู่สมรส และพยานรับรอง 2 คน ประกอบหลักฐานในการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อสกุล หากเป็นการดำเนินการในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กงสุลต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย
  • กรณีคู่สมรสจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายท้องถิ่น (โปแลนด์ หรือ ยูเครน) ซึ่งระบุการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรส ให้ใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมีการรับรองและแปลเป็นภาษาไทยตามระเบียบของทางราชการแล้ว สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อสกุลได้ แต่หากการสมรสไม่ระบุการใช้ชื่อสกุล ถ้าคู่สมรสประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องทำเป็นหนังสือข้อตกลง พร้อมลงลายมือชื่อของคู่สมรส และพยานรับรอง 2 คน โดยเจ้าหน้าที่กงสุลไทยในประเทศนั้น ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย

6. การดำเนินการภายหลังการสมรส

  • หลังจดทะเบียนสมรส หญิงไทยต้องไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบุคคล (คำนำหน้าชื่อ ชื่อสกุล) ในเอกสารทะเบียนราษฎร์ต่าง ๆ (ทะเบียนบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ในประเทศไทย บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทาง) ให้เรียบร้อยโดยเร็ว
  • หากไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปดำเนินการในประเทศไทยด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนได้ โดยทำเป็นหนังสือมอบอำนาจผ่านการรับรองจากเจ้าหน้าที่กงสุล 
  • การทำบัตรประชาชนใหม่ ผู้ร้องจำเป็นต้องไปดำเนินการด้วยตนเองที่อำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่สามารถมอบอำนาจให้กระทำการแทนกันได้ จึงควรต้องพิจารณาดำเนินการเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในโอกาสแรก

7. ข้อแนะนำ

  • การแก้ไขชื่อสกุลและคำนำหน้านามในทะเบียนบ้านไทยหลังสมรสมีความสำคัญและจำเป็นมาก เนื่องจากเมื่อท่านยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ (หนังสือเดินทางอิเลคทรอนิกส์) หากยังไม่มีการแก้ไขข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ในเมืองไทย หมายความว่า สถานภาพหลังการสมรสยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่กงสุลไม่สามารถแก้ไขข้อมูลในหนังสือเดินทางเก่าของท่าน หรือรับคำร้องทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือชื่อสกุลใหม่ของท่านได้โดยพลการ แม้จะมีหลักฐานการสมรสมาแสดงก็ตาม

8. เอกสารประกอบในการมอบอำนาจเพื่อเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และชื่อสกุล หลังการสมรส ให้แก่บุคคลอื่นในประเทศไทยดำเนินการแทน

  • ผู้ร้องต้องเตรียมเอกสารตัวจริงพร้อมสำเนา 2 ชุด ยื่นต่อเจ้าหน้าที่กงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ ดังนี้

         (1) หนังสือเดินทาง
         (2) บัตรประชาชน
         (3) ทะเบียนบ้านไทย
         (4) ทะเบียนบ้านโปแลนด์ หรือ ยูเครน
         (5) ทะเบียนสมรสไทย
         (6) หากจดทะเบียนสมรสท้องถิ่น (โปแลนด์ หรือ ยูเครน) ต้องนำใบสำคัญการสมรสไปแปล รับรองโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อการรับรองเอกสาร) และนำมารับรองอีกครั้งที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
         (7) หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล ฯลฯ
         (8) หนังสือข้อตกลงการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรส พร้อมลงลายมือชื่อของคู่สมรสพร้อมพยานรับรอง 2 คน และเจ้าหน้าที่กงสุลสถานเอกอัครราชทูต ลงลายมือชื่อรับรอง
         (9) คำร้องขอทำนิติกรณ์
         (10) ค่าธรรมเนียม 80 สว้อตตี้