บทความที่ 3 / Artikuł 3

บทความที่ 3 / Artikuł 3

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 576 view

เมื่อเดือนที่แล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ นำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดูถึงการ “พบหน้าค่าตา” กันในโอกาสต่าง ๆ ระหว่างคนไทยและคนโปแลนด์ในอดีต ซึ่งย้อนกลับไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระดับประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันนี้ เราจะไปดูกันว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2515 นั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ทั้งสองประเทศประสงค์จะมีความสัมพันธ์กันก็สร้างกันขึ้นมาเฉย ๆ แต่มีภูมิหลังและความพยายามก่อนหน้านั้นมาแล้วหลายครั้ง

 

ความพยายามครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2490 สมัยยุค พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ โดยไทยได้เป็นผู้ทาบทามโปแลนด์ (ตอนนั้นยังเป็นประเทศภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ใช้ชื่อ Polish People's Republic) ผ่านนายสงวน ตุลารักษ์ เอกอัครราชทูตไทยที่นานกิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนเวลานั้น โดยท่านทูตสงวนได้เริ่มหารืออย่างไม่เป็นทางการกับอุปทูตโปแลนด์ที่นานกิงในกลางเดือนมิถุนายน 2490 และจากนั้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2490 ก็ได้มีหนังสือยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศไทยเห็นชอบให้ทาบทามการสถาปนาความสัมพันธ์กับโปแลนด์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์เวลานั้นก็ประเมินว่า ไทยไม่ได้มีนโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างรุนแรงเหมือนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และการผูกสัมพันธ์กับไทยจะทำให้โปแลนด์มีโอกาสทางการค้ามากขึ้น จึงพร้อมจะสนองการยื่นมือมาของฝ่ายไทย...แต่การเมืองไทยสมัยนั้นยังไม่นิ่ง ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันเกิดการรัฐประหารในไทยนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัน และตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ ท่านทูตสงวนซึ่งเป็นเสรีไทยด้วย เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่คณะปฏิวัติจัดทำขึ้นไม่ถูกกฎหมาย จึงปฏิเสธที่จะเดินทางกลับไทยและอาศัยอยู่ที่จีนอีกกว่า 10 ปี การเมืองในไทยดังกล่าวจึงทำให้แผนสถาปนาความสัมพันธ์กับโปแลนด์ต้องพับไปด้วย

 

จากนั้นอีกเกือบทศวรรษต่อมา ในปี พ.ศ. 2499 ตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกฯ ฝ่ายโปแลนด์มีแนวคิดอยากจะปัดฝุ่นเรื่องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย โดยเฉพาะฝ่ายกระทรวงการค้าต่างประเทศของโปแลนด์เป็นผู้ผลักดันสำคัญ โดยคิดว่าการไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตทำให้ค้าขายกับไทยลำบาก ซึ่งพอหารือกับกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ก็เห็นด้วย และคิดแนวทางทาบทามไทยหลายรูปแบบ เช่น อาจให้ตั้งสำนักงานและมีหัวหน้าสำนักงานในระดับอุปทูตกันก่อนก็ได้หากไทยยังไม่พร้อมจะให้มีระดับเอกอัครราชทูต หรือหากจะทาบทามฝ่ายไทยอาจจะไปทาบทามกันที่สำนักงานสหประชาชาติดีหรือไม่ ด้วยความที่ขณะนั้นกระแสสงครามเย็นกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในฝั่งโลกเสรีค่อนข้างตึงเครียด ฝ่ายโปแลนด์จึงพยายาม เดินหมากด้วยความระมัดระวัง ในที่สุดเอกอัครราชทูตโปแลนด์ที่มอสโก (สหภาพโซเวียตในเวลานั้น) จึงได้หารือกับกับนายจี๊ด เศรษฐบุตร เอกอัครราชทูตไทยประจำมอสโก เกี่ยวกับท่าทีดังกล่าว ซึ่งฝ่ายโปแลนด์จริงจังมากขนาดเตรียมเสนอชื่อเอกอัครราชทูตประจำไทยคนแรกแล้ว คือนาย Zygfryd Wolniak ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำกัมพูชามาก่อน

 

การทาบทามภายในยังดำเนินต่อไป โดยไทยเองก็มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ด้วยความที่สหรัฐฯ ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ สุดตัวและมีอิทธิพลมากในภูมิภาคในขณะนั้นก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับไทย แต่ฝ่ายโปแลนด์ก็ลองหาช่องทางอื่นไปด้วย เช่น คิดว่าจะให้สถานทูตโปแลนด์ประจำพม่ามีเขตอาณาครอบคลุมไทยด้วยดีหรือไม่ (ซึ่งหลายฝ่ายในกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ก็ไม่แน่ใจว่าไทยเราจะยินยอมให้สถานทูตจากพม่ามีอาณาเขตมาครอบคลุมไทยหรือไม่) หรือในปี 2501 ในยุคที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ และมีกำหนดการจะเยือนมอสโก ฝ่ายโปแลนด์ก็มีแผนเสนอให้มาเยือนโปแลนด์ต่อเพื่อเจรจาเรื่องความสัมพันธ์กัน

 

ในช่วงนั้นฝ่ายโปแลนด์มีความต้องการจะผลักดันการค้ากับไทยมาก โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2501 จะมีคณะ Trade Commissioner ของโปแลนด์มาพม่า และเมื่อมาถึงพม่าแล้วก็อยากให้คณะดังกล่าวมายังไทยเพื่อถือโอกาสเปิดสำนักงานการค้าในไทยด้วย ฝ่ายโปแลนด์มีหัวหน้าคณะคือนาย Bohdan Kwasniewski ได้เข้าพบและเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงการจัดตั้งสำนักงานการค้าหากยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งไทยก็แจ้งว่าหากกระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน) ไม่ขัดข้อง ก็อยู่ในวิสัยจะทำได้ นาย Kwasniewski จึงได้รีบไปพบกระทรวงเศรษฐการและได้คำตอบว่าพร้อมสนับสนุน ฝ่ายโปแลนด์ก็ยินดีมากและได้ตั้งสำนักงานชื่อ Delegate of the Polish Foreign Trade Organization เพื่อส่งเสริมการค้ากับไทย และเตรียมความพร้อมที่จะเป็นฐานสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไปในอนาคตอันใกล้...แต่แล้วลมการเมืองไทยก็พัดแรงอีกวูบหนึ่ง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติในปลายปี 2501 ทำเอาการเมืองไทยพลิกหัวพลิกหาง และเส้นทางการจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและโปแลนด์ก็ต้องถูกระงับไปอีกช่วงหนึ่ง

 

ทว่าแม้จะยังไม่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ความสัมพันธ์ทางการค้าทั้งสองประเทศก็ขยับไปด้วยดี โดยในปี 2506 นายโอสถ โกศิน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก และคณะได้รับเชิญมาร่วมงานแสดงสินค้าที่เมือง Poznan ผ่านมาอีกพักใหญ่ในปี 2514 ก็มีคณะผู้แทนทางการค้าของไทย นำโดยนายบุญชนะ อัตถากร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนโปแลนด์ทั้งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า และศึกษาการปูทางการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

 

ในปี 2515 เมื่อสถานการณ์การเมืองโลกและในภูมิภาคเหมาะสมลงตัว โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือไทยได้ถอนกำลังภาคพื้นดินไทยชุดสุดท้ายออกจากเวียดนามใต้ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2515 ทำให้ไทยและโปแลนด์ ซึ่งแม้จะอยู่คนละค่ายในยุคสงครามเย็นสามารถตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้น ณ สำนักงานสหประชาชาติ  นครนิวยอร์ก ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2515 โดยมีการแลกเปลี่ยนบันทึกระหว่างผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของกันและกัน และอีก 2 ปีเศษถัดมา คือปี 2517 โปแลนด์ก็ได้ตั้งสำนักงานในกรุงเทพขึ้น โดยมีอุปทูตคนแรกคือนาย Boguslaw Zakrzewski ซึ่งในปีถัดมาไทยก็ได้ตั้งสำนักงานในวอร์ซอด้วยเช่นกัน โดยมีอุปทูตคนแรกคือนายรังสรรค์ พหลโยธิน และเอกอัครราชทูตไทยคนแรกคือนายโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

แม้ว่ากว่าก้าวแรกของความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยและโปแลนด์จะเกิดขึ้นได้จะมีจังหวะสะดุดของก้าวเดินไปหลายครั้งหลายครา แต่เมื่อเริ่มก้าวแล้วความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เดินหน้าอย่างมั่นคง เข้มแข็ง และขยายตัวออกไปนอกเหนือจากการค้าและการทูตมากมายจนถึงปีที่ 50 ในปีนี้ โดยความสัมพันธ์จะขยายไปด้านไหน ขนาดไหน อย่างไร จะนำมาเล่ากันสู่กันฟังต่อในเดือนหน้าครับ

หมายเหตุ: บทความข้างต้นใช้ข้อมูลพื้นฐานจากเอกสารใน archive ของกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์จำนวน 28 ฉบับ

 

-------------------------------

 

W zeszłym miesiącu Ambasada zabrała czytelników z powrotem, aby przyjrzeć się, jak Tajowie i Polacy spotykali się przy różnych okazjach w przeszłości od czasów króla Naraia Wielkiego do panowania króla Ramy VII. Dzisiaj przyjrzymy się, jak oficjalne stosunki dyplomatyczne, które rozpoczęły się 14 listopada 1972 r., nie były w rzeczywistości pierwszą próbą nawiązania oficjalnych stosunków przez te dwa kraje.

 

Pierwsza próba została podjęta w 1947 r., za rządów gen. broni Thawana Thamrongnawasawata na stanowisku premiera Tajlandii. Tajlandia zbliżała się do Polski (wówczas jeszcze PRL) za pośrednictwem pana Sanguana Tularaka, ambasadora Tajlandii w Nanking, ówczesnej stolicy Chin. Ambasador Sanguan rozpoczął nieformalne rozmowy z polską Charge d'affaires w Nankinie w połowie czerwca 1947 r., a następnie pod koniec lipca 1947 r. list potwierdził, że tajlandzkie Ministerstwo Spraw Zagranicznych zgodziło się przystąpić do nawiązania stosunków z Polską. Ministerstwo Spraw Zagranicznych RP oceniło wówczas, że Tajlandia nie prowadzi tak silnej polityki antyimperialistycznej jak inne kraje regionu, a jej związki z Tajlandią dałyby Polsce większe możliwości handlowe. Polska była więc gotowa uścisnąć rękę Tajlandii. Jednak tajska polityka w tym czasie wciąż nie była stabilna. W listopadzie tego samego roku w Tajlandii miał miejsce zamach stanu pod przewodnictwem feldmarszałka Phina Chunhavana, który mianował pana Khuang Aphaiwong na premiera, a ambasador Sanguan uznał, że przygotowana przez niego konstytucja jest niezgodna z prawem. Dlatego odmówił powrotu do Tajlandii i mieszkał w Chinach przez ponad 10 lat. Polityka w Tajlandii spowodowała więc fiasko planu nawiązania stosunków z Polską.

 

Prawie dekadę później, w 1956 roku, był premierem feldmarszałek Plaek Phibulsongkhram. Strona polska wpadła na pomysł ożywienia nawiązania stosunków dyplomatycznych z Tajlandią. W szczególności Ministerstwo Handlu Zagranicznego RP jest ważną siłą napędową. Uważali, że brak stosunków dyplomatycznych utrudnia handel z Tajlandią. Wewnętrzna dyskusja z polskim MSZ była zgodna i zrodziła wiele pomysłów na podejście, np. powołanie najpierw urzędu kierowanego przez charge d'affaires, gdyby Tajlandia nie była gotowa na stanowisko ambasadora, czy czy dobrze byłoby załatwić sprawę z Tajlandią w biurze ONZ. W tym czasie zimna wojna i napięcie antykomunistyczne były bardzo wysokie, więc podejście musi być bardzo odpowiednie. Wreszcie Ambasador RP w Moskwie (wówczas Związek Sowiecki) omówił zatem pomysł z Panem Jeed Setthabutr, Ambasadorem Tajlandii w Moskwie. Strona polska przygotowywała się do nominacji pierwszego ambasadora w Tajlandii, pana Zygfryda Wolniaka, który wcześniej był ambasadorem Polski w Kambodży.

 

Tajlandia nie była wówczas w wygodnej sytuacji, ponieważ nastroje antykomunistyczne były bardzo wysokie. Strona polska nadal bardzo chętnie rozwijała handel z Tajlandią. W sierpniu 1958 r. do Birmy przyjeżdżał Komisarz ds. Handlu Polski, chcieliby, aby grupa przyjechała do Tajlandii, aby skorzystać z okazji otwarcia biura handlowego również w Tajlandii. Strona polska na czele z Panem Bohdanem Kwaśniewskim spotkała się i negocjowała z tajlandzkim MSZ w sprawie utworzenia biura handlowego. Ministerstwo nie wyraziło sprzeciwu, jeśli Ministerstwo Gospodarki (obecnie Ministerstwo Handlu) miało wsparcie. Strona polska, po uzyskaniu aprobaty Ministerstwa Gospodarki, była bardzo zadowolona i utworzyła biuro o nazwie Delegat Polskiej Organizacji Handlu Zagranicznego w celu promocji handlu z Tajlandią i utorowania drogi do nawiązania stosunków dyplomatycznych w najbliższej przyszłości . Ale potem znowu wieje tajski polityczny wiatr. Feldmarszałek Sarit Thanarat pod koniec 1958 r. dokonał zamachu stanu, wywracając politykę Tajlandii do góry nogami, a droga do nawiązania stosunków dyplomatycznych między Tajlandią a Polską musiała zostać na kolejny czas zawieszona.

 

Nawet stosunki dyplomatyczne nie zostały jeszcze oficjalnie nawiązane, stosunki handlowe między obydwoma krajami poszły naprzód. W 1963 roku tajska delegacja handlowa została zaproszona do udziału w targach w Poznaniu, a później w 1971 roku odwiedził Polskę pan Boonchana Atthakorn, były ambasador Tajlandii w Waszyngtonie i ówczesny minister gospodarki, aby promować współpracę handlową i zobaczyć sposób na sformalizowanie stosunków dyplomatycznych

 

W 1972 roku, kiedy sytuacja polityczna świata i regionu była dobra, a także fakt, że Tajlandia wycofała ostatnie wojska z Wietnamu Południowego na początku lutego 1972 roku, Tajlandia i Polska, mimo przebywania w różnych obozach w czasie zimnej wojny, były w stanie zgodzić się na nawiązanie między sobą stosunków dyplomatycznych w Biurze Narodów Zjednoczonych w Nowym Jorku 14 listopada 1972 r., z wymianą dokumentów między Stałymi Przedstawicielami przy Organizacji Narodów Zjednoczonych.

 

Chociaż wcześniej była mała czkawka, zanim pierwszy krok w oficjalnych stosunkach między Tajlandią a Polską mógł mieć miejsce, to po ich rozpoczęciu, stosunki nadal były stabilne, silne i wykraczały poza handel i dyplomację aż do 50. rocznicy w tym roku.

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง