จดทะเบียนหย่า

จดทะเบียนหย่า

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,617 view

1. แนวปฏิบัติ

  • สถานเอกอัครราชทูตฯ รับจดทะเบียนหย่าเฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยเท่านั้น
  • การขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะทำได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการหย่าโดยความยินยอมสมัครใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น และทั้งสองฝ่ายได้หารือข้อตกลงร่วมกันเพื่อทำการบันทึกในทะเบียนหย่า เช่น อำนาจปกครองบุตรที่เกิดร่วมกัน การแบ่งทรัพย์สิน หรืออาจแจ้งว่า ไม่ประสงค์จะบันทึกรายละเอียดก็ได้
  • การขอจดทะเบียนหย่าทั้งสองฝ่ายจะต้องไปติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เนื่องจากการจดทะเบียนหย่านั้น ผู้ร้องขอจดทะเบียนหย่าต้องลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนและพยานสองคน

 

2. เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนหย่า

ผู้ยื่นคำร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องยื่นเอกสารเหมือนกัน ดังนี้

    (1) คำร้องขอนิติกรณ์

    (2) คำร้องขอจดทะเบียนหย่า และบันทึกคำสอบสวน

    (3) ทะเบียนสมรสฉบับจริง ของทั้งสองฝ่าย พร้อมสำเนา 1ชุด

    (4) หนังสือเดินทางซึ่งยังมีอายุใช้งานได้พร้อมสำเนา 1ชุด

    (5) ทะเบียนบ้านไทย และทะเบียนบ้านโปแลนด์ / ยูเครน พร้อมสำเนา 1 ชุด

    (6) บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 1ชุด

    (7) ใบเปลี่ยนชื่อ และ / หรือ นามสกุล (กรณีมีการเปลี่ยน) พร้อมสำเนา 1 ชุด

 

3. ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่า

  • กรุณานัดหมายเพื่อยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง ทางอีเมล [email protected] หรือทาง Facebook Messenger ที่เพจ Royal Thai Embassy, Warsaw Poland
  • ในวันนัดหมาย ผู้ร้องขอจดทะเบียนหย่าต้องไปปรากฎตัวต่อหน้านายทะเบียนทั้งสองคน
  • ผู้ร้องขอจดทะเบียนหย่า ต้องนำพยานบุคคล 2 คน ไปด้วย

 

4. การดำเนินการหลังการหย่า

  • หากฝ่ายหญิงเป็นบุคคลสัญชาติไทย จะต้องไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบุคคล (คำนำหน้าชื่อชื่อสกุล ในเอกสารทะเบียนราษฎร์ต่างๆ ทะเบียนบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ในประเทศไทย บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทาง) ให้เรียบร้อยโดยเร็ว
  • หากไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปดำเนินการในประเทศไทยด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนได้ โดยทำเป็นหนังสือมอบอำนาจผ่านการรับรองจากเจ้าหน้าที่กงสุล 
  • การทำบัตรประชาชนใหม่ ผู้ร้องจำเป็นต้องไปดำเนินการด้วยตนเองที่อำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่สามารถมอบอำนาจให้กระทำการแทนกันได้ จึงควรต้องพิจารณาดำเนินการเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในโอกาสแรก

 

5. ข้อแนะนำ

ถึงแม้จะมีระเบียบอนุโลมให้สำนักงานทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศรับจดทะเบียนการหย่าต่างสำนักทะเบียน (หมายถึงกรณีทีคู่สมรสมีความประสงค์จะจดทะเบียนหย่าต่างแห่ง และต่างเวลากัน โดยต่างฝ่ายต่างไปยื่นคำร้องขอหย่าพร้อมหนังสือสัญญาการหย่าต่อนายทะเบียนคนละสำนักทะเบียน คนละเวลา โดยตกลงว่า คู่หย่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ยืนคำร้องขอจดทะเบียนหย่าก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้สำนักทะเบียนใดเป็นผู้จดทะเบียนให้ การหย่าโดยวิธีนี้จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อการจดทะเบียนแห่งที่สองเรียบร้อยแล้ว) แต่สถานทูตฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปดำเนินการในประเทศไทยเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร และความรวดเร็ว เนื่องจากการจดทะเบียนหย่าที่สถานทูตฯ จะต้องใช้เวลานานในการส่งกลับเอกสารสำคัญไปยังประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานทะเบียนแห่งที่สองในการดำเนินเอกสาร และเท่าที่ปรากฏ ผู้ร้องมักมีปัญหาในการกรอกข้อมูลโดยเฉพาะในการบันทึกข้อความหลังการหย่าเกี่ยวกับอำนาจการปกครองบุตร รายละเอียดการแบ่งทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมาหลังการหย่า