ความสำคัญ และ ความเป็นมา ของ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ความสำคัญ และ ความเป็นมา ของ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 38,537 view

ความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์
ดังความใน “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า

“...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำราแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ
ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด
ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียงณที่พักแห่งหนึ่ง
พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ
จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว
จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ
แห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”

  

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย
แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า

 “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

สมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว ไว้ว่า
“...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์...”
ส่วนในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาไทย และภาษาเขมรกล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามี มกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร

สมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคำให้การของชาวกรุงเก่า ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ว่า
“...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้น มาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น
พระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว (จึงเด็จไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ)
มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ มหามงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ ๑ พัดวาลวิชนี ๑ ธารพระกร ๑ ฉลองพระบาทคู่ ๑...”

ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิฐานว่าทำตามแบบอย่างเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา
แต่ทำอย่างสังเขป เพราะบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์
และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูล เต็มตำรา
ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๖ โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่
ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่

แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราที่เกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย
เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง
และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
บางพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑
เมื่อทรงขึ้นครองราช์สมบัติสืบต่อจากพระบรมชนกนาถ ขณะมีพระชนพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา
ในระยะเวลาห้าปีแรกของรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
จนกระทั่งเมื่อทรงเจริญพระชนพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงทรงผนวช หลังจากทรงลาสิขาแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ หลังจากนั้นทรงรับพระราชภาระ และมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสมบูรณ์

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ เนื่องจากอยู่ในช่วงกำลังไว้ทุกข์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงโปรดให้งดการเสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริง ต่อมาเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่แล้ว
จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔
เพื่อให้เป็นส่วนรื่นเริงสำหรับประเทศ อีกทั้งให้นานาประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรไมตรีมีโอกาสมาร่วมงาน

 
 
 
 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:  คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กรมประชาสัมพันธ์

https://phralan.in.th/coronation/royalcoronationdetail.php?id=22