หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport)

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport)

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 23,383 view

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport)

1. ข้อมูลทั่วไป

  1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) คือ หนังสือเดินทางที่มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ได้แก่ รูปถ่ายใบหน้า ม่านตา และลายนิ้วมือไว้ใน Contactless Integrated Circuit ซึ่งฝังอยู่ในเล่มหนังสือเดินทาง และมีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทาง
  2. คนไทยในประเทศโปแลนด์ หรือยูเครน ที่หนังสือเดินทางหมดอายุ ใกล้หมดอายุ ชำรุด สูญหาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล สามารถนัดหมายเพื่อยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนด้านล่าง
  3. ควรยื่นขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่อย่างน้อย 6 เดือน ก่อนที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมจะหมดอายุ เพื่อป้องกันปัญหาหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอื่นปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศ
  4. การปรับระเบียบใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564
    • บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีบัตรประจำตัวประชาชน/ชื่อในทะเบียนบ้านไทยแล้ว สามารถเลือกทำหนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 10 ปี ก็ได้
    • บุคคลที่ขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกในต่างประเทศ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน/ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไทย ขอได้เฉพาะหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น
    • บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สามารถขอทำหนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งาน 5 ปี เท่านั้น
    • ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 (ดูระเบียบฯ คลิกที่นี่/ ดูประกาศสถานเอกอัครราชทูตฯ คลิกที่นี่)

---------------------------------------------------

2. เงื่อนไข

  1. ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักถาวรหรือพำนักระยะยาวในประเทศโปแลนด์ หรือยูเครน
  2. ต้องมายื่นคำร้องด้วยตัวเอง (เนื่องจากต้องมีการเก็บลายนิ้วมือและภาพม่านตา)
  3. ผู้ยื่นคำร้องที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีบิดาและมารดาต้องมาแสดงตัวขณะยื่นคำร้องฯ ด้วย ยกเว้นกรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส/หย่าร้างกัน และฝ่ายหนึ่งมีอำนาจปกครองบุตร หรือฝ่ายที่มาแสดงตัวไม่ได้ มีหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทาง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข้อ 3.2 (2) ด้านล่าง)
  4. กรณีที่ต้องการเปลี่ยนชื่อ-สกุลในหนังสือเดินทาง ตามการสมรส หรือการหย่า ผู้ร้องจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวในทะเบียนราษฎร์ (ที่เขตหรืออำเภอ) ที่ประเทศไทยก่อน (โดยจะไปดำเนินการด้วยตัวเอง หรือทำเรื่องมอบอำนาจให้ญาติหรือเพื่อนที่ไทยดำเนินการให้ก็ได้) และเมื่อแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร์เสร็จแล้ว จึงมาดำเนินการขอทำหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ของผู้ขอหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย
  5. ผู้ที่เกิดในต่างประเทศและยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย สามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ 1 ครั้ง (อายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี) เมื่อได้รับหนังสือเดินทางเล่มแรกแล้ว ควรนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านไทยและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนที่ไทยให้เรียบร้อย / สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถรับคำร้องขอหนังสือเดินทางเล่มที่ 2 หากผู้ยื่นคำร้องยังไม่ได้นำชื่อเข้าทะเบียนบ้านที่ไทย และไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านไทย/บัตรประจำตัวประชาชน มาแสดง  
  6. อายุหนังสือเดินทาง
    • บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีขึ้นไป) สามารถยื่นขอมีหนังสือเดินทางที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 10 ปี ก็ได้ ยกเว้นเป็นการทำหนังสือเดินทางครั้งแรกและยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย/ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน
    • บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) สามารถยื่นขอมีหนังสือเดินทางที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น 
  7. ค่าธรรมเนียม 
    • ค่ารับคำร้อง
      • 160 สว้อตตี้ สำหรับหนังสือเดินทางอายุไม่เกิน 5 ปี
      • 240 สว้อตตี้ สำหรับหนังสือเดินทางอายุไม่เกิน 10 ปี
    • หากประสงค์ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ส่งเล่มใหม่ทางไปรษณีย์ภายในโปแลนด์ (แบบลงทะเบียน) ต้องชำระค่าส่ง 30 สว้อตตี้ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบกรณีเอกสารที่ส่งทางไปรษณีย์ชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่ากรณีใด
    • ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น 
    • หากชำระแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนได้
  8. *สำคัญ* สถานเอกอัครราขทูตฯ สงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธการรับคำร้อง หากผู้ยื่นคำร้องมีเอกสารสำคัญไม่ครบถ้วน โดยผู้ยื่นคำร้องจะต้องนัดหมายเพื่อยื่นคำร้องใหม่ ดังนั้น กรุณาเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วนถามข้อ 3.2 ด้านล่าง

---------------------------------------------------

3. การยื่นคำร้องหนังสือเดินทาง

3.1 นัดหมายเพื่อยื่นคำร้อง

  • กรุณานัดหมายเพื่อยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง ทางอีเมล [email protected] หรือทาง Facebook Messenger ที่เพจ Royal Thai Embassy, Warsaw Poland
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ เปิดรับคำร้องหนังสือเดินทาง จันทร์ พุธ ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ) เวลา 10:00-12:00 น. และ 13:00-15.00 เฉพาะผู้ที่นัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น 

3.2 เตรียมเอกสารประกอบการยื่นคำร้อง ให้ครบถ้วน ดังนี้

(1) กรณีบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หรืออายุไม่ถึง 20 ปี แต่สมรสถูกต้องตามกฎหมายไทยแล้ว) 

  1. ใบคำร้องหนังสือเดินทางที่กรอกเสร็จแล้ว (เซ็นชื่อกำกับ) ดาวน์โหลดใบคำร้อง คลิกที่นี่
  2. หนังสือยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ที่กรอกรายละเอียดล่วงหน้า (ยังไม่ต้องเซ็นชื่อ) ดาวน์โหลดหนังสือยืนยันฯ คลิกที่นี่
  3. บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งาน พร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน ให้ใช้สำเนาสูติบัตรไทยแทน / กรณีบัตรฯ หมดอายุ กรุณานัดหมายเพื่อทำบัตรใหม่)
  4. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (ตัวจริง) ที่หมดอายุหรือกำลังจะหมดอายุ พร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ให้ใช้สำเนาใบแจ้งความ/แจ้งหายที่ได้จากทางการโปแลนด์/ยูเครนแทน)
  5. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล)
  6. สำเนาทะเบียนบ้านไทย
  7. สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ ในโปแลนด์/ยูเครน ที่แสดงที่อยู่ในปัจจุบัน
  8. สำเนาทะเบียนสมรส/สำเนาใบหย่า/สำเนาใบมรณบัตรของคู่สมรส
  9. ค่าธรรมเนียม
    • 160 สว้อตตี้ สำหรับหนังสือเดินทางอายุไม่เกิน 5 ปี
    • 240 สว้อตตี้ สำหรับหนังสือเดินทางอายุไม่เกิน 10 ปี
    • ค่าส่งเล่มทางไปรษณีย์ 30 สว้อตตี้ สำหรับภายในโปแลนด์เท่านั้น
    • ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น

(2) กรณีบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) 

  1. ใบคำร้องหนังสือเดินทางที่กรอกเสร็จแล้ว (เซ็นชื่อกำกับ) ดาวน์โหลดใบคำร้อง คลิกที่นี่
  2. หนังสือยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ที่กรอกรายละเอียดล่วงหน้า (ยังไม่ต้องเซ็นชื่อ) ดาวน์โหลดหนังสือยืนยันฯ คลิกที่นี่
  3. บัตรประจำตัวประชาชน ที่มีอายุใช้งาน 
    • ของผู้เยาว์ (ตัวจริง พร้อมสำเนา)
    • ของบิดา/มารดา/ผู้มีอำนาจปกครอง ชาวไทย (เฉพาะสำเนา)
    • กรณีไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน ให้ใช้สำเนาสูติบัตรไทยแทน
  4. หนังสือเดินทาง
    • ของผู้เยาว์ เล่มเดิมที่หมดอายุหรือกำลังจะหมดอายุ (ตัวจริง พร้อมสำเนา) / ไม่ต้องใช้ หากเป็นการขอหนังสือเดินทางเล่มแรก
    • ของบิดา/มารดา/ผู้มีอำนาจปกครอง ที่มีอายุการใช้งาน (เฉพาะสำเนา)
    • กรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ให้ใช้สำเนาใบแจ้งความ/แจ้งหายที่ได้จากทางการโปแลนด์/ยูเครนแทน
  5. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล)
    • ของผู้เยาว์
    • ของบิดา/มารดา/ผู้มีอำนาจปกครอง
  6. สำเนาทะเบียนบ้านไทยของผู้เยาว์ (ไม่ต้องใช้ หากเป็นการขอหนังสือเดินทางเล่มแรก)
  7. สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในโปแลนด์/ยูเครนที่แสดงที่อยู่ในปัจจุบัน
    • ของผู้เยาว์
    • ของบิดา/มารดา/ผู้มีอำนาจปกครอง
  8. สำเนาทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างชาติ (กรณีที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน)
  9. สำเนาสูติบัตรไทยของผู้เยาว์
  10. หลักฐานการมีอำนาจปกครองบุตร (แต่เพียงผู้เดียว) อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
    • สำเนาบันทึกคำให้การรับรองปกครองบุตร (ป.ค.14) (กรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและบุตรอยู่ในความดูแลของมารดา)
    • สำเนาใบมรณบัตร (กรณีบิดาหรือมารดาของผู้เยาว์เสียชีวิต)
    • สำเนาบันทึกการหย่า (คร.6) ที่ระบุให้บิดาหรือมารดามีอำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียว (กรณีบิดามารดาหย่ากัน)
    • สำเนาคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ (กรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและบุตรอยู่ในความดูแลของบิดาและติดต่อมารดาไม่ได้ / กรณีที่บิดาและมารดาเสียชีวิต)
    • ใบรับรองบุตรบุญธรรม (กรณีผู้ยื่นคำร้องเป็นบุตรบุญธรรม)
    • หมายเหตุ: หากคำสั่งศาลหรือหนังสือปกครองบุตร ออกให้โดยศาลโปแลนด์/ยูเครน จะต้องนำเอกสารดังกล่าวไป (1) รับรองผ่านกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์/ยูเครน (2) แปลเป็นภาษาไทย และ (3) รับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ก่อน จึงจะสามารถใช้ประกอบคำร้องหนังสือเดินทางของผู้เยาว์ได้
  11. ค่าธรรมเนียม
    • 160 สว้อตตี้ สำหรับหนังสือเดินทางอายุไม่เกิน 5 ปี
    • ค่าส่งเล่มทางไปรษณีย์ 30 สว้อตตี้ สำหรับภายในโปแลนด์เท่านั้น
    • ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น

 *เงื่อนไขสำคัญ กรณีผู้เยาว์*

  • ผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ หรือบิดามารดา ต้องมาแสดงตนพร้อมผู้เยาว์ เพื่อลงนามให้ความยินยอมขณะผู้เยาว์ยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เสมอ
  • กรณีผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ หรือบิดามารดา ไม่สามารถมาลงนามยินยอมขณะผู้เยาว์ยื่นคำร้องได้ ให้ผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ หรือบิดามารดา ทำหนังสือให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ที่เขต/อำเภอ/หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น โดยต้องไปลงนามให้ความยินยอมฯ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ แล้วส่งหนังสือยินยอมดังกล่าว (แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้ให้ความยินยอมที่รับรองสำเนาถูกต้อง) ให้ผู้เยาว์นำมายื่นประกอบคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง (ต้องยื่นพร้อมคำร้องฯ ของผู้เยาว์ ไม่สามารถส่งมาให้ภายหลังได้)
    • ดูตัวอย่างหนังสือให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทางของผู้เยาว์ คลิกที่นี่
  • กรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องมีผู้มีอำนาจปกครอง/บิดา/มารดา คนใดคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย มาร่วมยื่นคำร้องพร้อมผู้เยาว์ ฝ่ายที่มาไม่ได้ให้ทำเป็นหนังสือให้ความยินยอมฯ และหากทั้งบิดาและมารดา (หรือผู้มีอำนาจปกครอง) ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเอง จะต้องมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีขึ้นไป) เป็นผู้พาผู้เยาว์มายื่นคำร้องฯ โดยต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติมจากหนังสือให้ความยินยอมข้างต้น ดังนี้
    • หนังสือมอบอำนาจของบิดาและมารดา (หรือผู้ที่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์) ที่ผ่านการรับรองจากเขต/อำเภอ/หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น
    • บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ของผู้รับมอบอำนาจ

---------------------------------------------------

4. การแต่งหน้าและแต่งกายสำหรับการทำหนังสือเดินทาง

  • ใบหน้า: การถ่ายรูปจะต้องให้ตรงกับมาตราฐานของ ICAO ซึ่งเป็นมาตรฐานข้อกำหนดในการถ่ายภาพติดบนหนังสือเดินทางทั่วโลก ดังนั้น ใบหน้าต้องชัดเจนตั้งแต่หน้าผากถึงปลายคางและปลายผมตรงติ่งหูด้านซ้ายไปถึงด้านขวา จะต้องไม่มีอะไรมาบดบังเพื่อให้ภาพถ่ายผิดเพี้ยน
  • การแต่งหน้า: ไม่ควรแต่งหน้าเข้มเกินไป ควรใช้โทนสีธรรมชาติ (เพราะเนื่องจากรูปที่ปรากฏอยู่บนหนังสือเดินทางจะเป็นรูปขาว-ดำ)
  • การสแกนม่านตา: ปัจจุบันมีการเก็บภาพม่านตาเพื่อบันทึกลงในชิปข้อมูลที่อยู่ในเล่มหนังสือเดินทาง ดังนั้น จึงไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ (อนุญาตให้สำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์สายตาแบบใสเท่านั้น) ผู้ที่ใส่แว่นสายตาจะต้องถอดแว่นสายตาขณะถ่ายรูป
  • พิมพ์ลายนิ้วมือ: หนังสือเดินทางจะต้องเก็บลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว โดยที่อุปกรณ์พิมพ์ลายนิ้วมือจะอ่านจากความชื้น ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางมาทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ควรทาครีมบำรุงผิวที่บริเวณมือสักเล็กน้อยเพื่อสะดวกกับการพิมพ์ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว
  • การแต่งกาย: ควรแต่งกายสุภาพ ไม่เปิดไหล่ ไม่ควรใส่เสื้อสีขาวเนื่องจากฉากด้านหลังเป็นสีขาว ไม่ควรใส่เครื่องประดับและต่างหู สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ต้องสวมใส่ผ้าคลุมผม ควรเป็นผ้าสีเดียวไม่มีลาย เช่น สีดำล้วน เป็นต้น

---------------------------------------------------

5. การรับเล่ม

  • หนังสือเดินทางจะผลิตเล่มที่ประเทศไทย แล้วจึงส่งมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ปกติผู้ร้องจะได้รับเล่มหนังสือเดินทางภายใน 4-6 สัปดาห์ นับจากวันที่ยื่นคำร้องฯ 
  • ผู้ยื่นคำร้องสามารถเลือกได้ว่าจะรับเล่มทางไปรษณีย์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งเล่มทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน (30 สว้อตตี้ สำหรับภายในโปแลนด์เท่านั้น ให้ชำระพร้อมกับค่าธรรมเนียมทำหนังสือเดินทาง) หรือจะมารับเล่มด้วยตัวเอง โดยกรณีที่เลือกรับเล่มด้วยตัวเอง เมื่อหนังสือเดินทางเล่มใหม่ส่งมาถึงสถานเอกอัครราชทูตฯ เจ้าหน้าที่จะติดต่อให้ท่านมารับที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ต่อไป

---------------------------------------------------

6. หนังสือเดินทางประเภทอื่น

  1. ข้อมูลทั่วไป
    • ออกให้แก่บุคคลที่หนังสือเดินทางสูญหาย หรือเสียหายจนใช้การไม่ได้หรือหนังสือเดินทางขาดอายุระหว่างอยู่ต่างประเทศ แต่มีหลักฐานประกอบการขอออกหนังสือเดินทางครบถ้วนและประสงค์จะเดินทางเป็น การเร่งด่วนโดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้แทนได้
    • สถานเอกอัครราชทูตฯ จะพิจารณาออกหนังสือเดินทางชั่วคราว เป็น รายกรณีโดยพิจารณาตามความเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสม ทั้งนี้ในกรณีของผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ หรือบุคคลทั่วไปที่เดินทางผ่านสาธาณรัฐเช็กในลักษณะท่องเที่ยว หรือราชการ ภายในเวลาอันสั้นสถานเอกอัครราชทูตฯ จะพิจารณาออกหนังสือสำคัญประจำตัว (Emergency Travel Document) เพื่อใช้แทนหนังสือเดินทางสำหรับเดินทางกลับประเทศไทยก่อนเป็นอันดับแรก
  2. หนังสือเดินทางชั่วคราว (Emergency Passport)
    • จะออกให้ในกรณีที่คนไทยทำหนังสือเดินทางสูญหายหรือหมดอายุ และมีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทาง E-Passport ได้
    • หนังสือเดินทางชั่วคราวมีอายุไม่เกิน 1 ปีและไม่สามารถต่ออายุได้อีก
    • ค่าธรรมเนียม 40 สว๊อตตี้
  3. เอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) ออกให้กรณีต่อไปนี้
    • เมื่อหนังสือเดินทางของบุคคลนั้นถูกยกเลิก
    • เมื่อบุคคลนั้นไม่มีหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางสูญหาย หรือเสียหายจนใช้การไม่ได้หรือหนังสือเดินทางขาดอายุแต่มีหลักฐานเพียงพอที่ จะทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลนั้นมีสัญชาติไทยและประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย
    • หนังสือสำคัญประจำตัวมีอายุตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 6 เดือนใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้ครั้งเดียว เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วเป็นอันหมดอายุไม่สามารถต่ออายุได้อีก
    • ค่าธรรมเนียม ไม่เสีย
 
 

เอกสารประกอบ

PassportApplication_Mar2021