บทความที่ 4

บทความที่ 4

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ค. 2565

| 1,014 view

ในบทความที่แล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำคุณผู้อ่านย้อนไปดูประวัติความเป็นมาก่อนจะเกิดการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและโปแลนด์กัน โดยในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีไทย-โปแลนด์นี้ สถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทยได้เป็นแม่งานในการประกวดออกแบบโลโก้ฉลองความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ท่านทูตโปแลนด์เพิ่งมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ ได้แก่ คุณสุรัตนชัย ชื่นตา หัวหน้างานกราฟฟิกและศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้เคยคว้ารางวัลการประกวดออกแบบระดับประเทศมาแล้วมากมาย

 

โลโก้ความสัมพันธ์ 50 ปีไทย-โปแลนด์นี้ คุณสุรัตนชัยฯ ได้ออกแบบเป็นรูปช้างและนกอินทรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไทยและโปแลนด์ในระนาบเดียวกัน สื่อถึงความสัมพันธ์ในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนที่มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกัน .. แต่ทำไมช้างและอินทรีถึงมาเป็นสัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศได้ วันนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ จะถือโอกาสเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้รับฟังกันครับ

 

สำหรับคนไทยคงจะคุ้นชินกับการที่ช้างเป็นสัญลักษณ์ของเรา เพราะช้างมีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมาช้านาน ทั้งการเป็นพาหนะทรงของพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณ รวมถึงถูกใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น การอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นหลังช้างเพื่อนำไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว และในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเริ่มให้มีการใช้รูปช้างเผือกในธงเรือหลวง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเพียงรูปจักรสีขาวบนพื้นธงสีแดงเท่านั้น ทำให้ช้างเริ่มปรากฏในฐานะการเป็นสัญลักษณ์ทางการของไทย

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์และอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2414ได้พระราชทานรูปปั้นช้างสำริดให้แก่ทั้งสองประเทศเพื่อเป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี จนถึงทุกวันนี้ที่สิงคโปร์ ช้างสำริดดังกล่าวตั้งตระหง่านอยู่หน้า The Arts House สถานที่จัดแสดงงานศิลปะและคอนเสิรต์ซึ่งเคยเป็นอาคารที่ทำการเก่าของรัฐสภาสิงคโปร์ ส่วนที่อินโดนีเซีย รูปปั้นช้างพระราชทานดังกล่าวตั้งสง่าอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงจาการ์ตา และเมื่อครั้งรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเวียดนามเมื่อปี 2473 ก็ได้พระราชทานรูปปั้นช้างสำริดไว้เช่นกัน ปัจจุบันตั้งโดดเด่นอยูที่ Saigon Zoo and Botanical Garden นครโฮจิมินห์

 

โดยที่ช้างเป็นสัญลักษณ์สำคัญในความรับรู้ของคนไทยโดยทั่วไปดังกล่าว คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติจึงได้เลือก “ช้างเผือก” ให้เป็นสัญลักษณ์ของไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นมา และกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย

 

ในขณะที่ช้างมีเรื่องราวย้อนไปในประวัติศาสตร์จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติของไทยเรานั้น นกอินทรีก็มีความเป็นมาในประวัติศาสตร์โปแลนด์ที่น่าสนใจเช่นกัน อาจต้องเริ่มเล่าด้วยคำว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” เลยทีเดียว ตำนานเล่าว่ามีพี่น้องชาวสลาฟ 3 คนในดินแดนแถบนี้ ชื่อ Lech Czech และ Rus ออกไปล่าสัตว์ โดย Czech มุ่งหน้าไปทางตะวันตก (และไปตั้งรกรากเป็นดินแดนเช็กในปัจจุบัน) และ Rus มุ่งหน้าไปทางตะวันออก (และไปตั้งรกรากเป็นบริเวณรัสเซียในปัจจุบัน) ส่วน Lech นั้นเดินทางขึ้นเหนือ จนมาถึงพื้นที่แห่งหนึ่งในช่วงใกล้ย่ำค่ำ และพบพญาอินทรีสีขาวกำลังกางปีกปกป้องลูกน้อยในรังจากกลุ่มของ Lech ที่เดินทางมาพบเข้า แสงอาทิตย์ใกล้อัสดงที่มากระทบปีกอินทรีสีขาวทำให้เห็นปีกเป็นสีทองอร่าม Lech เห็นว่านี่คือลางดี จึงได้ลงหลักปักฐานบริเวณรังนกอินทรีนี้ เกิดเป็นชุมชนแรกของโปแลนด์ โดยให้ชื่อบริเวณนี้ว่า Gniezno ซึ่งมีเสียงพ้องกับภาษาโปลิชว่า Gniazdo ที่แปลว่ารังนก

 

ต่อมาเมื่อ Duke Mieszko I ได้รับเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์และก่อร่างสร้างโปแลนด์เป็นประเทศ พร้อมตั้งราชวงศ์ Piast เป็นราชวงศ์แรกของโปแลนด์ในปลายศตวรรษที่ 10 ก็ได้เลือกที่จะตั้งเมืองหลวงแห่งแรกของโปแลนด์ที่เมือง Gniezno แห่งนี้ โดยใช้อินทรีสีขาวเป็นสัญลักษณ์ โดย Gniezno เป็นเมืองหลวงของโปแลนด์อยู่ 72 ปี ก่อนจะถูกพวก Bohemia โจมตีและทำลายลง และต้องย้ายเมืองหลวงไปยัง Krakow .. ปัจจุบันเมือง Gniezno อยู่ห่างจากกรุงวอร์ซอไปทางตะวันตกประมาณ 300 กม. และห่างจากเมืองเมือง Poznan ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งของโปแลนด์ประมาณ 50 กม.

 

ราชวงศ์ Piast นี้ใช้ตรานกอินทรีสีขาวบนโล่ เหรียญ และตราแผ่นดิน ต่อมาในปี 1295 ในช่วงพระราชพิธีราชาภิเษกของ Przemysl II ก็ได้ปรับสัญลักษณ์อินทรีสีขาวสมมงกุฎสีทอง และตราสัญลักษณ์อินทรีขาวมงกุฎทองนี้ก็เป็นพื้นฐานของตราโปแลนด์เรื่อยมา แต่ถูกปรับไปตามกาลเวลาและตามสถานการณ์ทางการเมือง เช่น ในบางช่วงที่โปแลนด์ตกอยู่ใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ อินทรีขาวก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ไม่มีมงกุฎ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1990 ก็มีการปรับใช้ตราอินทรีสีขาวที่มีมงกุฎ จะงอยปาก และปลายเล็บเป็นสีทอง  เช่นในปัจจุบัน

พอทราบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของความเป็นมาแห่งการเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของช้างไทยและอินทรีโปแลนด์กันแล้ว หวังว่าคุณผู้อ่านจะมองตราสัญลักษณ์ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-โปแลนด์ ได้สนุกและลึกซึ้งกันมากขึ้นนะครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง