จดทะเบียนสูติบัตร

จดทะเบียนสูติบัตร

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,221 view

1. การแจ้งเกิดและขอสูติบัตรไทยสำหรับเด็กที่เกิดในต่างประเทศ

  • ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิด คือ บิดาหรือมารดาของเด็ก กรณีบิดามารดาไม่สามารถแจ้งการเกิดได้ด้วยตัวเอง จะมอบหมายให้ญาติหรือเพื่อนบ้านที่รู้เห็นการเกิดของเด็กแจ้งการเกิดแทนก็ได้
  • สถานที่รับแจ้งการเกิด
    1. กรณีท้องที่ที่เด็กเกิดมีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยตั้งอยู่ บิดามารดาของเด็กหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย (มีหนังสือมอบอำนาจ) สามารถแจ้งการเกิดต่อเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยซึ่งเป็นนายทะเบียนราษฎรในต่างประเทศ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่กงสุลรับแจ้งการเกิดแล้ว จะออกหลักฐานทะเบียนคนเกิดหรือสูติบัตรให้เป็นหลักฐานเมื่อเด็กเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ให้บิดาหรือมารดานำสูติบัตรที่เจ้าหน้าที่กงสุลออกให้นั้น (พร้อมหนังสือเดินทางของเด็กที่มีตราประทับเข้าประเทศ) ไปติดต่อกับนายทะเบียนที่อำเภอหรือเทศบาลที่บิดาหรือมารดาของเด็กมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือภูมิลำเนาอาศัยอยู่ เพื่อขอเพิ่มชื่อเด็กเข้าในทะเบียนบ้าน สำหรับคนไทยที่เดินทางเข้าไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วไปคลอดบุตร ก็สามารถแจ้งการเกิดบุตรที่สถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นได้เช่นเดียวกัน
    2. กรณีท้องที่ที่เด็กเกิดไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยตั้งอยู่ บิดามารดาของเด็กสามารถแจ้งการเกิดตามกฎหมายของประเทศที่เด็กเกิด โดยไม่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้น และเมื่อเด็กเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย (โดยหนังสือเดินทางของประเทศที่เด็กเกิด) ให้บิดาหรือมารดานำหลักฐานการเกิดของบุตรที่ออกตามกฎหมายของต่างประเทศไปแปลเป็นภาษาไทยแล้วให้กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศรับรองคำแปล จากนั้น จึงนำหลักฐานการเกิดที่แปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองคำแปลแล้วนั้นไปติดต่อกับนายทะเบียนที่อำเภอหรือเทศบาลที่บิดาหรือมารดาของเด็กมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ เพื่อขอเพิ่มชื่อเด็กเข้าในทะเบียนบ้าน (อย่างไรก็ดีเพื่อป้องกันปัญหาความไม่สะดวกที่อาจเกิดขึ้นนี้ ในการเพิ่มชื่อเด็กในการดำเนินการที่สำนักงานเขตหรือสำนักงานทะเบียน สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแนะนำให้บิดาหรือมารดามาจดทะเบียนการเกิดเพื่อขอสูติบัตรไทย และหนังสือเดินทางไทย ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หากสามารถทำได้)
  • ระยะเวลาที่ต้องแจ้ง กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาแจ้งการเกิดสำหรับคนที่เกิดในต่างประเทศ บิดาหรือมารดาสามารถแจ้งการเกิดบุตรของตนได้ตามความเหมาะสม โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
  • ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิดต้องไปยื่นคำร้องการขอแจ้งเกิดด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ และต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าทางอีเมล [email protected] หรือทาง Facebook Messenger ที่เพจ Royal Thai Embassy, Warsaw Poland

2) การได้สัญชาติไทยของเด็ก

  • เด็กที่เกิดในต่างประเทศโดยมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย ไม่ว่าบิดาจะเป็นบุคคลสัญชาติไทยหรือไม่ใช่สัญชาติไทย และจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสก็ตาม ย่อมได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย และสามารถแจ้งเกิดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่รับผิดชอบในเขตอาณา
  • เด็กที่เกิดในต่างประเทศโดยบิดาหรือมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย ย่อมได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย และสามารถแจ้งเกิดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่รับผิดชอบในเขตอาณา ยกเว้นในกรณีที่บิดาเป็นคนไทย มารดาถือสัญชาติอื่น และทั้งคู่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดร่วมกันย่อมไม่สามารถถือสัญชาติไทยได้
  • กรณีมารดาเป็นคนไทย และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา บุตรที่เกิดจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียวจึงต้องถือนามสกุลตามมารดา แต่หากต้องการจดสูติบัตรโดยให้บุตรใช้นามสกุลบิดานอกสมรส มารดาต้องบันทึกให้ปากคำยินยอมก่อนด้วย
สัญชาติบิดา สัญชาติมารดา  สถานภาพสมรส  สัญชาติบุตร 
ไทย ไทย จด ไทย
ไทย ไทย ไม่จด ไทย
ไทย อื่น ๆ จด ไทย
ไทย อื่น ๆ ไม่จด ไม่ได้สัญชาติไทย
อื่น ๆ ไทย จด ไทย
อื่น ๆ ไทย ไม่จด ไทย

3) เอกสารประกอบการยืนขอสูติบัตร

  • การขอสูติบัตรไทยต้องนำเอกสารต้นฉบับพร้อมสำเนา 2 ชุด มายื่นต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ดังนี้

       (1) ใบแจ้งเกิด (สูติบัตร) ของทางการท้องถิ่น (โปแลนด์ หรือ ยูเครน) 
       (2) ใบสำคัญการสมรสของบิดาและมารดา
       (3) หากบิดามารดาไม่ได้สมรสกัน ขอให้ยื่นใบรับรองความเป็นบิดาของเด็ก โดยนำเอกสารดังกล่าวไปผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ โปแลนด์ หรือ ยูเครน
       (4) บัตรประจำตัวประชาชนไทยและหนังสือเดินทางของบิดาและมารดาที่ยังมีอายุใช้งานอยู่
       (5) สำเนาทะเบียนบ้านไทยและสำเนาทะเบียนบ้านประเทศที่มีถิ่นพำนัก (โปแลนด์ หรือ ยูเครน) ของบิดาและมารดา
       (6) หนังสือยินยอมของพ่อหรือแม่ให้บุตรถือสัญชาติไทย
       (7) แบบฟอร์มแจ้งเกิดกรอกสมบูรณ์มีแบบฟอร์มไว้บริการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
       (8) ใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (กรณีบิดา มารดา หรือเด็กเคยเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล)
       (9) คำร้องนิติกรณ์ขอจดทะเบียนสูติบัตร
       (10) รูปถ่ายเด็กขนาด 4 x 6 ซม. 2 รูป
       (11) เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ แล้วแต่กรณี

4) การใช้นามสกุลของเด็ก

  • บิดามารดาจดทะเบียนสมรส

       (1) เด็กมีสิทธิใช้นามสกุลบิดา
       (2) หากบิดาและมารดาประสงค์ให้บุตรใช้นามสกุลมารดา บิดามารดาต้องให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่กงสุล แล้วบันทึกปากคำให้ปรากฏความยินยอมไว้เป็นหลักฐานทั้งบิดาและมารดาพร้อมด้วยเหตุผล
       (3) หากบิดาและมารดาประสงค์ให้บุตรใช้นามสกุลของบุคคลอื่นที่มิใช่นามสกุลของบิดาหรือมารดา เจ้าหน้าที่กงสุลไม่มีอำนาจดำเนินการ เพราะการอนุญาตดังกล่าวเป็นอำนาจของนายทะเบียนท้องที่ที่เจ้าของนามสกุลมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

  • บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส

       (1) เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียว และมีสิทธิใช้นามสกุลของมารดา มารดาแจ้งเกิดโดยบุตรใช้นามสกุลของตนเอง
       (2) หากมารดาจะให้บุตรใช้นามสกุลของบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบิดาเป็นผู้แจ้งเกิดกับทางการท้องถิ่น โดยให้ใช้นามสกุลของบิดา หรือบิดายินยอมให้บุตรนอกสมรสใช้นามสกุลของตนโดยเป็นการยินยอมทั้งสองฝ่าย บิดาต้องมาให้ปากคำต่อหน้าเจ้าหน้าที่กงสุล และบันทึกการแสดงความยินยอมที่จะให้บุตรนอกสมรสใช้นามสกุลของตนไว้เป็นหลักฐาน
       (3) หากมารดาไม่ยินยอมให้บุตรใช้นามสกุลบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้บิดาจะยินยอมเจ้าหน้าที่กงสุลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากอำนาจการปกครองบุตรอยู่กับมารดา

5) สิ่งที่ควรรู้และข้อแนะนำ

  • เด็กที่เกิดในต่างประเทศจะขอแจ้งการเกิดกับนายทะเบียนที่อำเภอหรือเทศบาลในประเทศไทยไม่ได้ เด็กที่มีหลักฐานการเกิดของต่างประเทศสามารถใช้หลักฐานดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองคำแปลโดยกระทรวงการต่างประเทศแล้วนั้น เป็นสูติบัตรได้ตามกฎหมาย
  • เมื่อแจ้งเกิดให้แก่บุตรแล้ว ควรยื่นเอกสารเพื่อทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้แก่บุตรพร้อมๆ กันต่อเจ้าหน้าที่กงสุลที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานทูตกงสุลไทยโดยหนังสือเดินทางเล่มแรกนี้ ทางการไทยจะอะลุ้มอล่วยออกให้โดยที่เด็กยังไม่มีถิ่นที่อยู่ในไทยหรือมีชื่อในทะเบียนบ้านไทย อย่างไรก็ดี เมื่อมีโอกาส ควรรีบดำเนินการแจ้งชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านไทยโดยเร็ว (โดยนำหนังสือเดินทางที่มีตราประทับการเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นหลักฐานไปยื่นประกอบพร้อมสูติบัตรไทย) เนื่องจากเมื่อหนังสือเดินทางเล่มแรกหมดอายุลง และต้องขอทำเล่มใหม่ จะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านก่อน จึงจะสามารถออกหนังสือเดินทางอีกครั้งหนึ่งได้
  • กรณีสูติบัตรฉบับที่ออกให้แก่บิดามารดาสูญหาย สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไม่สามารถออกสูติบัตรใหม่ให้ได้ เนื่องจากสูติบัตรเป็นเอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้เพียงครั้งเดียว
  • บุคคลสัญชาติไทยที่มีบุตรเกิดในประเทศโปแลนด์ หรือ ยูเครน สามารถแจ้งเกิดบุตรที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอสูติบัตรไทยให้บุตรได้
  • การดำเนินการขอจดทะเบียนสูติบัตรไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมีผลโดยสมบูรณ์เมื่อบิดามารดาเด็ก ได้นำชื่อเด็กไปเข้าทะเบียนบ้านไทย 
  • บิดาตามกฎหมาย หมายถึง บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบิดาจะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดาได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา (กรณีจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ จะจดฯ ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างชาติก็ได้) หรือ จดทะเบียนรับรองบุตร หรือ มีคำพิพากษาศาลดังนั้น กรณีเด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันภายหลัง (ตัวอย่าง เด็กที่เกิดในต่างประเทศโดยบิดาเป็นคนไทย มารดาเป็นต่างชาติและขณะที่เกิดบิดาไม่ได้สมรสกับมารดา แต่ต่อมาเมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย มีผลให้เด็กคนนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา จึงมีสิทธิได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  • การสมรสตามหลักศาสนาอิสลามของไทยไม่มีผลตามกฎหมายไทยเนื่องจากมิได้กระทำต่อหน้านายทะเบียน
  • กรณีคนสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศโดยมีหลักฐานรับรองการเกิด มีความประสงค์จะขอมีรายการบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร แต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ สามารถมอบอำนาจโดยทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ให้ญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทยยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านชั่วครำวสำ หรับบุคคลที่เดินทางไปต่างประเทศได้ โดยผู้มอบอำนาจต้องส่งหลักฐานสูติบัตรหรือหลักฐานการเกิดฉบับจริง พร้อมภาพถ่ายของผู้ที่ขอมีรายการบุคคล เพื่อให้นายทะเบียนท้องถิ่นหรือนายทะเบียนอำเภอ/เขตบันทึกรายละเอียดไว้ด้านหลังเอกสาร โดยถ้าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถมอบอำนาจด้วยตนเอง แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มอบอำนาจแทน แต่การดำเนินการในกรณีนี้พึงระลึกด้วยว่า ชื่อของตนยังคงอยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวเมื่อใดที่คนสัญชาติไทยนี้เดินทางกลับประเทศไทย จะต้องไปดำเนินการด้วยตนเองเพื่อขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านปกติ เนื่องจากบุคคลที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเพิ่มชื่อตนเข้าในทะเบียนบ้านปกติได้